KEY :
- งานหนังสือ 2565 กลับมาจัดงานที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์อีกครั้ง
- โดยมีประชาชนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก หลังมีการปิดปรับปรุงศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ตั้งแต่ปี 2562
- ในปีนี้ ผู้จัดคาดว่าจะมีผู้เข้ารวมงานถึง 1.5 ล้านคน สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท
- ส่วนอุตสาหกรรมหนังสือในปีนี้ ประเมินว่า ตลาดจะกลับมาเติบโต อยู่ที่ราว 15,000 ล้านบาท
…
ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถนนรัชดาภิเษก เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ภาพของคลื่นประชาชนจำนวนมากเดินท่องเที่ยวงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 27 “งานหนังสือ 2565 ” โดยนักอ่านจำนวนไม่น้อยที่ยังคงชื่นชอบเสน่ห์ในการอ่านหนังสือที่เป็นรูปเล่ม และเป็นหนึ่งในจุดหมายทคนรักหนังสือตั้งตารอทุกปี ทำให้บรรยากาศของประชาชนผู้รักการอ่านภายใต้ในสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ได้กลับมาคึกคักเหมือนภาพจำก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 ถือว่าเป็นการกลับมาจัดงาน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ อีกครั้ง หลังการปิดปรับปรุงนับตั้งแต่ปี 2562 จากข้อมูลของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย พบว่า เคยมีผู้เข้าชมมากที่สุดตลอดการจัดงานมากถึง 2.8 ล้านคน
โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) จัดงาน งาน #มหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 27 (Book Expo Thailand 2022) ภายใต้แนวคิด “BOOKTOPIA มหานครนักอ่าน เพราะการอ่านคือจุดเริ่มต้นของการสร้างเมือง” โดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่า กทม.) ได้กล่าววันเปิดงานมหกรรมหนังสือว่า “Welcome Back ยินดีต้อนรับงานหนังสือกลับมาอีกครั้งในรอบ หลายปี ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด-19 เชื่อว่าต่อไปงานมหกรรมหนังสือจะยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ งานนี้ต้องอยู่บนปฏิทินของโลก สำหรับ กทม. นโยบายการอ่านเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องทำให้ทุกคนเข้าถึงหนังสือได้ง่าย”
หากคำกล่าวประโยคที่ว่า “คนไทยอ่านหนังสือปีละไม่เกิน 8 บรรทัด” ซึ่งเป็นประโยคที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดหลายครั้งเมื่อดูข้อมูล พบว่า ประเทศไทยเคยมีร้านหนังสือมากถึง 2,483 ร้าน แต่ตอนนี้เหลือเพียง 800 ร้านเท่านั้น ข้อมูลค่าอุตสาหกรรมหนังสือจาก สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย หรือ BUPAT พบว่า ภาพรวมตลาดอุตสาหกรรมหนังสือ เคยมีมูลค่ายอดขาย สูงสุดเกือบ 30,000 ล้านบาท ในปี 2557 และลดลงมาเหลือ 13,000 ล้านบาท ในปี 2564 แบ่งเป็น 50% ร้านหนังสือ Chain Store และ 50% สำนักพิมพ์และร้านหนังสือ Stand Alone
หากกลับไปดูข้อมูล มูลค่าอุตสาหกรรมหนังสือ 8 ปีที่ผ่านมา
- ปี 2557 มูลค่า 29,300 ล้านบาท
- ปี 2558 มูลค่า 27,900 ล้านบาท
- ปี 2559 มูลค่า 27,100 ล้านบาท
- ปี 2560 มูลค่า 23,900 ล้านบาท
- ปี 2561 มูลค่า 18,000 ล้านบาท
- ปี 2562 มูลค่า 15,900 ล้านบาท
- ปี 2563 มูลค่า 12,500 ล้านบาท
- ปี 2564 มูลค่า 13,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2565 นี้ ตลาดจะกลับมาเติบโต อยู่ที่ราว 15,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย หรือ BUPAT ในงาน แถลงข่าว “มหกรรมหนังสือฯ กลับบ้าน” เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 65 กล่าวว่า ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา มีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงมากมาย ช่วงร้านหนังสือปิด พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน มีการซื้อผ่าน Marketplace อาทิ ช้อปปี้ ลาซาด้า มากขึ้น
ทำให้สำนักพิมพ์ เปลี่ยนกลยุทธ์มาขายผ่านตัวเองมากขึ้น พึ่งพาร้านหนังสือน้อยลง “ขณะเดียวกัน พฤติกรรมผู้บริโภค หันมาพรีออเดอร์หนังสือมากขึ้น ทำให้สำนักพิมพ์เปลี่ยนพฤติกรรมการขายได้ง่ายขึ้น สายป่านของสำนักพิมพ์อาจจะไม่ต้องยาว “
สำหรับงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งนี้ ณ ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG ประกอบด้วย โซนหนังสือ 6 หมวด ได้แก่ หนังสือเด็กและการศึกษา หนังสือทั่วไป หนังสือเก่า หนังสือประวัติศาสตร์และการเมือง หนังสือนิยายและวรรณกรรม และหนังสือการ์ตูนและวัยรุ่น เรียกได้ว่ามีครบเติมเต็มทุกความต้องการของผู้อ่านทุกเพศ ทุกวัย อีกทั้ง ภายในงานนั้นตกแต่งออกมาให้กับธีมมหานครนักอ่าน พร้อมพื้นที่ให้สายคอนเทนต์ได้เก็บภาพบรรยากาศสวย ๆ ไปส่งในโซเชียลมีเดีย ในบริเวณแลนด์มาร์ก (Landmark) กลางพื้นที่การจัดงาน เป็นจุดสำคัญของการถ่ายรูปและเช็คอิน สามารถมองภาพของงานในมุมมองของ Bird Eyes View แบบ 360 องศา คล้ายการได้เฝ้ามองเมืองหนังสือจำลอง
ผู้ที่สนใจสามารถเดินทางมาได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 23 ต.ค. 2565 เวลา 10.00 – 21.00 น. โดยในปีนี้ มีสำนักพิมพ์เข้าร่วมกว่า 306 ราย 788 บูธ ให้นักอ่านทุกเพศทุกวัยสามารถเลือกซื้อหนังสือได้อย่างจุใจ และมีกิจกรรมเวทีและอบรมสัมมนากว่า 100 รายการ คาดว่าจะมีผู้เข้ารวมงานถึง 1.5 ล้านคน สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การเดินทางไปงานหนังสือ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เดินทางด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินมายังศูนย์ฯ สิริกิติ์ ทั้งสะดวก ประหยัดเวลา และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะเชื่อมต่อกับสถานี “ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” (ทางออก 3) สามารถเดินตรงสู่พื้นที่จัดงาน หรือขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอสลงที่สถานีอโศกแล้วต่อรถไฟฟ้าใต้ดินไปที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน “ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” เมื่อลงรถไฟฟ้าใต้ดินแล้ว เดินตรงไปยังทางออก 3 ซึ่งมีทางเชื่อมต่อกับชั้นล่างของศูนย์ฯ สิริกิติ์ และรถโดยสารสาธารณะ สาย 136 จอดด้านหน้าศูนย์ฯ สิริกิติ์
ส่วนรถยนต์เข้าประตูข้างสวนป่าเบญจกิติ บริการที่จอดรถ ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ให้บริการที่จอดรถ สามารถรองรับได้กว่า 3,000 คัน เปิดให้บริการเวลา 05.00 – 24.00 น. บริเวณที่จอดรถมีลิฟต์ตรงไปยังชั้นจัดแสดงงาน ทั้งนี้ยังมีที่จอดรถพิเศษสำหรับผู้พิการที่ชั้น B1 และ B2 สถานีชาร์จ EV และที่จอดรถสำหรับสุภาพสตรีที่ชั้น B1 พร้อมที่จอดรถจักรยานยนต์อยู่ที่ชั้น LM เป็นต้น