“มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช มีวิสัยทัศน์ชัดเจนว่าเราเป็นมหาวิทยาลัย เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ประทีปถิ่น ประเทืองไทย ก้าวไกลสู่สากล” โดยเราต้องการนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย อยู่ในคณะต่างๆ อยู่ในหลักสูตรต่างๆ และอยู่ในตัวอาจารย์ นักศึกษา ต่างๆ ไปเป็นเครื่องมือ เพื่อไปใช้ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ร่วมกับภาคีเครือข่าย เพราะเราอยากจะให้มหาวิทยาลัยเป็นที่พึ่งของท้องถิ่นอย่างแท้จริง”
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช (มรภ.นศ.) นับว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่ดำเนินการพัฒนาท้องถิ่นสามารถตอบโจทย์การพัฒนาตามเจตนารมณ์ พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 มาตรา 7 และมาตรา 8 ระบุว่า “ให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่เสริมสร้างปัญญาของท้องถิ่น ที่สร้างพลังปัญญาของแผ่นดิน…..” โดยเฉพาะนโยบายสภามหาวิทยาลัย และ Vision แผนพลิกโฉมมหาวิทยาลัย Reinventing สู่การเป็น Smart University ฯลฯ อันจะนำพาไปสู่แนวทางในการกำหนดจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช 5 ประเด็นยุทธศาสตร์ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)
รองศาสตราจารย์ดร.วิชัย แหวนเพชร นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงให้ความสำคัญ มหาวิทยาลัยราชภัฎมานาน พระองค์ท่านพระราชทานปริญญาบัตรให้กับบัณฑิตไม่น้อยกว่า 30 ปี ด้วยพระมหากรุณาธิคุณและสายพระเนตรอันยาวไกลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร ที่ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษา และทรงมุ่งหมายให้การศึกษาสร้างคนไทย ให้มีคุณลักษณะ 4 ประการ ได้แก่ มีทัศนคติที่ดี และถูกต้อง มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคงเข้มแข็ง มีอาชีพ มีงานทำ และเป็นพลเมืองดีมีระเบียบวินัย อันเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ และก็ทรงมองว่าการที่จะพัฒนาประชาชนให้กินดีอยู่ดีนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏมีส่วนสำคัญเพราะเห็นเป็นมหาวิทยาลัยที่ใกล้ชิดกับชุมชนมากที่สุด และพระองค์พระราชทานพระบรมราโชบาย ให้ท่านองคมนตรี โดยเฉพาะ ท่าน พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ประสาน ติดตาม สนับสนุนมหาวิทยาลัยราชภัฎมาโดยตลอด
ด้านดร.สมปอง รักษาธรรม รองอธิการบดี รักษาราชการแทนอธิการบดี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช เรามีวิสัยทัศน์ชัดเจนว่าเราเป็นมหาวิทยาลัย เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยหลักคิดของมหาวิทยาลัย คือ เราต้องการนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย อยู่ในคณะต่างๆ อยู่ในหลักสูตรต่างๆ และอยู่ในตัวอาจารย์ต่างๆ ไปเป็นเครื่องมือ เพื่อไปใช้ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ร่วมกับภาคีเครือข่าย ซึ่งตรงนี้เรามีเป้าหมาย และทิศทางที่ชัดเจนที่อยากจะให้มหาวิทยาลัยเป็นที่พึ่งของท้องถิ่นอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ถือเป็นพันธกิจหลักในอันที่จะพัฒนาท้องถิ่นตามจุดเน้นของมหาวิทยาลัย ตามนโยบายสภามหาวิทยาลัย ตาม พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย ราชภัฏ พ.ศ. 2547 สอดคล้องกับพระราชปณิธาน พระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวในการส่งเสริม สนับสนุนและสนองงานตามพระราชดำริเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ครอบคลุมมิติ สังคม การศึกษา เศรษฐกิจ และทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ให้คนในชุมชนท้องถิ่นมีคุณภาพชีวิต ที่ดีขึ้นอย่างสมดุล ยั่งยืน
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงเข้าพระทัยลึกซึ้งถึงแก่นแท้ของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่เป็นแหล่งความรู้วิชาการ เป็นปราชญ์แห่งการพัฒนาท้องถิ่นอันเป็นกลไกสำคัญที่จะสามารถเข้าถึงต้นตอแห่งปัญหาของพสกนิกรของพระองค์ในแต่ละท้องที่ และสามารถดำเนินการแก้ไข และพัฒนาอย่างมุ่งเป้าเพื่อให้ประชาชน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกด้าน ผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งเป็น “คนของพระราชา ข้าของแผ่นดิน” จักมุ่งมั่นและตั้งใจปฏิบัติงานตามพระบรมราโชบายของพระองค์ท่านและตามข้อแนะนำของท่านองคมตรี ท่าน พล.อ. ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ที่พระองค์ทรงมอบหมาย โดยคำนึงถึงบริบทที่แท้จริงของพื้นที่บริการ โดย จัดทำแผนงานโครงการและกิจกรรม อย่างพินิจ พิเคราะห์ ประเมินผลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสื่อสาร บูรณาการ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งภายใน ภายนอก มหาวิทยาลัย ร่วมกันขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายยกยกระดับคุณภาพการศึกษา และ พัฒนาท้องถิ่นด้วยองค์ความรู้อย่างเต็มภาคภูมิ”
ขณะที่ผศ.ดร.ดำรงค์พันธ์ ใจห้าววีระพงศ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช ได้ดำเนินการโครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฎเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ในปีงบประมาณ 2565 มีทั้งหมด 9 โครงการหลัก ประกอบด้วย 1.โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น 2.การพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับรายได้ให้กับคนในชุมชนฐานรากพัฒนา 3.โครงการส่งเสริมความรัก สามัคคี 4.โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลตำบลในจังหวัด (Big Data) 5.โครงการสนับสนุนสื่อวีดีทัศน์ประกอบการเรียนการสอน (DLTV)เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนครูให้กับโรงเรียนขนาดเล็ก 6.โครงการยกระดับการเรียนรู้ด้านการอ่านการเขียนและการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 7.โครงการเสริมสร้างสมรรถนะภาคีเครือข่ายการวางแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ระดับตำบล 8.โครงการพัฒนาความรู้ทักษะด้านภาษาอังกฤษ และ 9.โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการโครงการยุทธศาสตร์ ด้วยงบประมาณ 23 ล้านบาทเศษ
ในปีงบประมาณ 2565 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ดำเนินการใน 9 โครงการหลัก 53 กิจกรรมย่อย ใน 11 อำเภอ 25 ตำบล 74 ชุมชน/หมู่บ้าน 29 โรงเรียน ในจังหวัดนครศรีธรรมราช และตรัง ประชาชนได้รับประโยชน์จากการพัฒนาท้องถิ่นดังกล่าว จำนวน 1,200 คน ผู้ประกอบการชุมชน จำนวน 60 ราย สินค้าชุมชน จำนวนกว่า 80 รายการ นักเรียน 750 คน นักศึกษา จำนวนกว่า 5,700 คน โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ (อพ.สธ.) จำนวน 20 โครงการย่อย และโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG) ประกอบด้วย 93 ตำบล ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดตรัง และจังหวัดกระบี่ และเกิดการจ้างงานประชาชน และบัณฑิตจบใหม่ กว่า 875 อัตรา เป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ครบกระบวนการอันนำไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานราก และคุณภาพชีวิตในพื้นที่จังหวัดที่รับผิดชอบ
นางจุไรวรรณ ศรีพุฒ ประธานวิสาหกิจกลุ่มสวนขันเกษตรยั่งยืน กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฎเข้ามาหาชาวบ้านหลายคณะ มาสอนให้เรียนรู้ว่าจะต้องใช้สีธรรมชาติ ในการทำผ้าบาติก ซึ่งไม่เป็นอันตรายกับสิ่งแวดล้อมและไม่เป็นอันตรายกับผู้สวมใส่ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเดิมเราใช้ถุงกระดาษหรือถุงพลาสติก เหมือนท้องตลาดทั่วไป มีการเพิ่มลวดลายในถุงกระดาษเป็นรูปเจดีย์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้เห็นว่ามาจากวิสาหกิจกลุ่มสวนขัน ซึ่งเราได้ความรู้มากมาย เราตั้งเป้าว่าจะทำให้วิสาหกิจกลุ่มสวนขันเกษตรยังยืนที่ได้ 4 ดาว จะทำอย่างไรให้ได้ 5 ดาว
นายทักษิณ หมินหมัน ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านแหลมโฮมสเตย์อำเภอท่าศาลาจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ถ้าถามว่ามหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราชช่วยอะไรเราบ้างตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ที่เราก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจขึ้นมา เราขับเคลื่อนมาส่วนหนึ่ง ได้จากมหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช ที่มาบริการงานวิชาการในเรื่ององค์ความรู้ต่างๆ การท่องเที่ยว เรื่องการบริหารจัดการโฮมสเตย์ การตั้งปลุกผลิตภัณฑ์และการวิจัยผลิตภัณฑ์ในชุมชนที่ประสบความสำเร็จล้วนแล้วแต่ มาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช ซึ่งสโลแกนของพวกเราก็คือคิดอะไรไม่ออก ให้บอกราชภัฏนครศรีธรรมราช เพราะที่นี่มีทุกอย่างที่ชุมชนอยากได้ และชุมชนจะเดินขับเคลื่อนกระบวนการไม่ได้หลักๆ คือ ชุมชนจะต้องตั้งขึ้นมาด้วยความเข้มแข็ง และได้องค์ความรู้จากนักวิชาการ รวมถึงงบประมาณจากหน่วยงานของภาครัฐมาส่งเสริมในสิ่งที่ชุมชนต้องการ และเข้าสู่กระบวนการต่อยอดไปเองโดยอัตโนมัติ
นางปรารถนา กล้าอยู่ สมาชิกวิสาหกิจกลุ่มชุมชนท่องเที่ยวอนุรักษ์บ้านบางดี กล่าวว่า ตอนนี้ได้จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้น ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มมากขึ้นและได้นำผลิตภัณฑ์ในบ้านของเรามาแปรรูปเป็นสินค้าขายตามช่องทางออนไลน์ได้ ขอบคุณมหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นอย่างยิ่ง ขอบคุณพระองค์ท่านที่ส่งให้มหาวิทยาลัยราชภัฏให้มาดูและชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ แทนพระเนตรพระกรรณของพระองค์ท่าน น้อมนำลึกในพระบรมมหากรุณาธิคุณยิ่ง
ฟากน.ส.ภัทรภร อินทรพฤกษา นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ขอบคุณมหาวิทยาลัยราชภัฏคนของพระราชา ทำให้เราได้เรียนรู้ ได้พัฒนา นำสิ่งที่ท่านถ่ายทอดจากนอกห้องเรียนนำไปสู่การปฏิบัติจริง แทนที่จะได้แค่องค์ความรู้ มันสามารถนำไปใช้ร่วมในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมนำ ร่วมประสาน ร่วมสร้างนวัตกรรม เพื่อสร้างความความแข้มแข็ง ให้กับชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะชุมชนที่หนูเองได้เกิดที่นี้ และต้องการทำที่นี้ให้ดี พี่น้องหนู มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม และ บัดนี้หนูได้ทำมันแล้ว พี่น้องหนูในชุมชน รู้สึกว่ามันดีขึ้น ขอบคุณมหาวิทยาลัย ขอบคุณผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขอบคุณที่พระองค์ท่านไม่ทิ้งพวกเราชาวชุมชน เล็กๆ ที่ให้ราชภัฏมาดูแลชาวชุมชน มีรายได้ มีคุณภาพชีวิต มีการศึกษาที่ดีขึ้นมากๆค่ะ
ทั้งหมดทั้งปวงนี้บอกได้คำเดียวว่า มรภ.นศ.มีเป้าประสงค์เพื่อให้คนท้องถิ่นในชุมชนยืนด้วยลำแข้งตัวเอง พึ่งพาตัวเองได้อย่างมั่นคง พอเพียง รวมทั้งให้เกิดความยั่งยืนทั้งในมิติรายได้ ภายใต้อัตลักษณ์ของท้องถิ่น สอดประสานความร่วมมือ และมิตรภาพของชุมชน เป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น” และยังก้าวดำเนินการต่อไป เพื่อสร้างและผลิตบุคคล ควบคู่ไปกับการสร้างชุมชนท้องถิ่นให้แข้มแข็ง สมดุล ยั่งยืน ตามพระบรมราโชบายอย่างแท้จริง เต็มภาคภูมิ