เมื่อถึงช่วงเทศกาล การแข่งขันเรือยาวประเพณี ซึ่งเป็นกีฬาชาวบ้านในฤดูน้ำหลากเทศกาลบุญประเพณีออกพรรษา เป็นมรดกวัฒนธรรมทางสายน้ำที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำ เรือและผู้คน บนพื้นฐานความสามัคคีพร้อมเพรียง นอกจากความสนุกสนานกับการประลองความแข็งแกร่งของฝีพายชิงเจ้าความเร็วแห่งสายน้ำแล้ว จะขาดไม่ได้เลย คือ “การบรรยายการแข่งขัน (พากย์เรือ)” ช่วยสร้างอรรถรส เพิ่มสีสันให้การแข่งขันเรือยาว ดุเดือด เร้าใจ เต็มไปด้วยความสนุกสนาน
เมื่อวันที่ ( 27 สิงหาคม 65 ) ที่ บริเวณริมเขื่อนท่าน้ำนนทบุรี เทศบาลนครนนทบุรี ได้จัดการแข่งเรือยาวประเพณีชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ประจำปี 2565 ประเภท 30 ฝีพาย และ 55 ฝีพาย พร้อมกับทีมพากย์เรือยาวระดับบรมครู ที่บรรยายการแข่งขันด้วยเสียงสุดมัน ฟังแล้วแทบขาดใจ พ่วงด้วยนักพากย์เรือรุ่นจิ๋ว จากโรงเรียนนครนนท์วิทยา1 (วัดท้ายเมือง) ที่ปั้นนักพากย์เรือเด็ก จากรุ่นสู่รุ่นมาหลายปี โดยเด็กๆจะใช้เวลาว่างจากการเรียน มาฝึกซ้อมการพากย์เรือ ทั้งภาษาไทย และ ภาษาอังกฤษ
ซึ่งเหล่านักพากย์เรือรุ่นจิ๋วที่มาร่วมงานวันนี้ ประกอบด้วย ด.ช.ธนกฤต แก้วมณี ป.6 /ด.ช.พูนทวี สายงาม ป.6 /ด.ช.วีรยุทธ จินดาแดง ป.5 ห้องเรียนปกติ และห้องเรียน MEP มี ด.ช.ธนวัฒน์ ถาวรสถิตย์วงศ์ ป.5. และด.ช.ณัฐพัฒน์ หมั่นอุตส่าห์ ป.4
ด.ช.ธนวัฒน์ หนึ่งในนักพากย์รุ่นจิ๋วบอกกับทีมข่าวว่า ตัวเองชื่นชอบการพากย์เรือยาวประเพณี มากๆ รู้สึกสนุก แต่แม้จะชอบขนาดไหนแต่ก็ยังตื่นเต้นอยู่ดี และครั้งนี้ก็ยังได้พากย์เรือยาวเป็นภาษาอังกฤษด้วย
ขณะที่คุณครูณัฏฐ์ชวัญช์ กุลวรธำรงต์ ครูสอนภาษาไทย จากโรงเรียนนครนนท์วิทยา1 บอกกับทีมข่าวว่า เนื่องจากจังหวัดนนทบุรีเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่มีอาณาเขตส่วนหนึ่งติดแม่เจ้าพระยา เทศบาลนครนนทบุรีมีการจัดการแข่งขันเรือยาวประเพณีขึ้น และทางเทศบาลมีนโยบายให้มีนักพากย์รุ่นจิ๋ว โดยทางโรงเรียนได้ส่งนักพากย์เรือเข้าร่วมเสมอมา
ด้านคุณครูภัทร์ธีรา เหมัง ครูสอนภาษาอังกฤษ เล่าว่า ปีนี้ทางเทศบาลนครนนทบุรี ต้องการส่งเสริมการพากย์ 2 ภาษา เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาชม ส่วนการคัดเลือกนักพากย์ของโรงเรียนคือ ให้นักเรียนสมัครเข้ามา แล้วทำการคัดเลือกรอบ 10 คน 5 คน และ 2 คนสุดท้ายเป็นต้น
อย่างไรก็ตามจุดประสงค์สำคัญของการจัดแข่งขันเรือยาวประเพณี ไม่ว่าจะเป็นสนามใดก็ตาม คือการสร้างความสามัคคีของฝีพายในเรือลำเดียวกัน รวมทั้งความเสียสละของฝีพายที่จะต้องขยันหมั่นซ้อมพาย ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และเสน่ห์ของเกมกีฬาประเภทนี้อีกอย่างก็คือ จังหวะความพร้อมในการพาย การจ้วงพายให้เร็วขึ้นเมื่อเข้าใกล้เส้นชัย กระชับ รวดเร็วแต่พร้อมเพรียงกัน การแข่งขันที่ให้คนดูได้ลุ้นอยู่ตลอดเวลา และการพากย์เสียงของพิธีกรประจำสนามที่ต้องยอมรับว่าสร้างความตื่นเต้นเร้าใจให้กับการแข่งขันได้ไม่น้อยเลยทีเดียว