คัดลอก URL แล้ว
“กทม.” หารือ “Google” เล็งเริ่ม “ห้องเรียนต้นแบบ” ใช้ดิจิทัลในการศึกษา เพื่อครู-นักเรียนได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน

“กทม.” หารือ “Google” เล็งเริ่ม “ห้องเรียนต้นแบบ” ใช้ดิจิทัลในการศึกษา เพื่อครู-นักเรียนได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน

วันนี้ 2 ส.ค. 65 เวลา 15.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้เกี่ยวข้อง ประชุมร่วมกับบริษัท กูเกิล (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อหารือความร่วมมือและการสนับสนุนด้านการศึกษาระหว่าง Google และกรุงเทพมหานคร ณ ห้องประชุมชั้น 31 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า วันนี้กทม.ได้ต้อนรับกลุ่ม Google Education หรือ บริษัท กูเกิล ที่ทำด้านการศึกษา ซึ่งได้มีการทำวิจัยกับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ทำการวิจัยการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ในห้องเรียน ซึ่งทางเราก็มีความสนใจ เพราะการนำเทคโนโลยีมาใช้ในห้องเรียนถือเป็นนโยบายอยู่แล้ว โดยมุ่งพัฒนาใน 3 มิติ 1. นักเรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้มากขึ้น โดยผ่านระบบออนไลน์หรือการเชื่อมโยงต่าง ๆ 2. ลดภาระของครู หากทุกอย่างเป็นดิจิทัล ครูก็จะสามารถทำงานเอกสารต่าง ๆ ได้รวดเร็วขึ้น 3. สามารถประมวลผลโรงเรียนได้ดีขึ้น หากทุกอย่างอยู่บน digital platform เราจะสามารถตรวจสอบประสิทธิภาพของโรงเรียนได้ดีขึ้น การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของโรงเรียนกทม.ได้

การหารือในวันนี้ได้พูดถึงโครงการที่จะทำร่วมกัน คือ “ห้องเรียนต้นแบบ” ที่ใช้ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เช่น อาจจะมีการให้แท็บเล็ตแก่นักเรียน มีระบบการเรียนออนไลน์ มีการใช้ Cloud ในการแชร์ข้อมูล ครูและนักเรียนสามารถเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ได้มากขึ้น โดยจะมีการเก็บข้อมูลร่วมกับนักวิจัยจากทางมหาวิทยาลัยด้วย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และสามารถนำไปสเกลได้ หัวใจคือ เริ่มห้องเรียนต้นแบบก่อน 1 ห้องเรียน โดยเลือกโรงเรียนระดับประถมศึกษา เพราะกทม.มีโรงเรียนระดับประถมศึกษาเป็นหลัก เบื้องต้นวางแผนไว้ว่าจะเลือกระดับ ป.2 – ป.4 เพื่อให้สามารถเห็นพัฒนาการในระยะยาวได้ เมื่อเลือกแล้วก็จะเริ่มทำ จะต้องมีการสอนครูในการดูเด็ก ในการดำเนินการและประสิทธิภาพต่าง ๆ ถ้าได้ผลก็จะขยายผลต่อไปที่ห้องเรียนอื่น ๆ ได้ ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ไม่ได้ใช้งบประมาณอะไร แต่เป็นความร่วมมือที่คิดว่าน่าจะมีประโยชน์ ซึ่งคงต้องมีการวางแผนกันก่อน โดยให้อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้กำหนดการเตรียมตัว ส่วนในแง่อื่น ๆ เช่น การเข้าถึงแหล่งข้อมูลหรือแหล่งทรัพยากรต่าง ๆ ทางบริษัทฯ ก็ยินดีให้การสนับสนุนนักเรียนในกทม.เพื่อให้เข้าถึงฐานข้อมูลต่าง ๆ ได้ รวมไปถึงความช่วยเหลือทางเทคนิคด้วย

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า นี่ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะเรื่องเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ เบื้องต้นได้คุยกับบริษัทไว้ว่า อนาคตหัวใจจะไม่ใช่การศึกษา (Education) เพียงอย่างเดียว การเรียนรู้ (Learning) ก็จะเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการศึกษาคือหลักสูตรที่เราเตรียมให้เด็ก แต่สุดท้ายเด็กต้องรู้ที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองด้วย ฉะนั้น โรงเรียนไม่ได้มีหน้าที่แค่เตรียมหลักสูตร แต่จะต้องเตรียมระบบนิเวศที่เด็กสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ ซึ่งจะต้องมีการปรับเรื่องการเข้าถึงข้อมูล เข้าถึงความรู้ ปรับวิธีคิด วิธีสอนของครู เตรียมบรรยากาศให้ดี

“เราจะปรับปรุงโรงเรียนกทม.ให้มีคุณภาพมากขึ้น สิ่งสำคัญที่เราต้องมีคือโรงเรียนคุณภาพดีอยู่ใกล้บ้าน ซึ่งเป็นข้อดีทั้งในเรื่องการเดินทางและความเท่าเทียมกัน เพราะว่าอาวุธที่ดีที่สุดสำหรับต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำคือการศึกษา ถ้ารุ่นลูกสามารถมีชีวิต มีความรู้ มีงานการที่ดีขึ้นได้ สุดท้าย 1 ชีวิต ก็จะสามารถหลุดพ้น หรือลดความเหลื่อมล้ำได้ เพราะฉะนั้น การศึกษาจึงเป็นสิ่งที่ลงทุนน้อยแต่ได้เยอะ เราอาจลงทุนไม่มากกับการศึกษา แต่ว่าผลที่ได้มันมหาศาล เราจึงต้องทุ่มเทกับเรื่องนี้” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวเสริมว่า ตอนนี้เราทำเรื่อง Infrastructure (โครงสร้างพื้นฐาน) อยู่ เช่น เรื่องไวไฟ (wifi) โรงเรียน โดยเรื่องไวไฟก็เป็นส่วนหนึ่ง เราอยากให้มีเรื่องดิจิทัลเข้ามา เราจึงต้องเตรียมระบบนิเวศ อาทิ ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ รวมถึงเรื่องของคุณครู ซึ่งเรามุ่งเน้นการลดภาระครู หากมีดิจิทัลเข้ามาก็จะช่วยได้เยอะ ทั้งงานด้านธุรการ การเก็บเอกสารหลักสูตรต่าง ๆ และการ training ของคุณครูด้วย เพราะการจะนำระบบมาใช้ ไม่ใช่เฉพาะนักเรียนต้องเรียนรู้ แต่คุณครูจะต้องเรียนรู้พร้อมกันด้วย ต้องทำไปควบคู่กัน

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า กทม.มีนโยบายที่จะเปิดโรงเรียนในช่วงวันหยุด เพื่อให้เด็กได้เรียนนอกเหนือจากหลักสูตร ได้มีกิจกรรม เช่น มีอาสาสมัครจากเอกชนมาช่วยสอนเด็กวันเสาร์-อาทิตย์ ให้มุมมอง แลกเปลี่ยนประสบการณ์อื่น ๆ ที่นอกเหนือจากหลักสูตรที่เรียน อาจจะเป็นเรื่องวิชาชีพ เรื่องงานศิลปะต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นการใช้ทรัพยากรของโรงเรียนให้มีประโยชน์เต็มที่ และเป็นการขยายโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่ใช่เฉพาะแค่ในหลักสูตร ทำให้เขารู้จักตัวเองมากขึ้น อาจจะได้รู้ว่าตัวเองชอบแบบนี้ ชอบงานศิลปะ หรือว่าชอบทำอย่างอื่น นี่คือสิ่งที่เราจะขยายประโยชน์ของโรงเรียน ไม่ใช่เพียงเพื่อการศึกษา แต่เพื่อการเรียนรู้เรื่องอื่นด้วย

“สำหรับการคัดเลือกห้องเรียนต้นแบบจะเลือกจากโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครที่อยู่ในเกณฑ์ธรรมดา มีผลคะแนนปานกลาง ไม่ได้เลือกโรงเรียนที่มีเกณฑ์คะแนนดี เพื่อจะได้เห็นผลที่แท้จริงว่าเกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง โดยไม่ต้องกังวล เพราะเครื่องมือไม่ใช่หัวใจ จริง ๆ แล้ว เครื่องมือไม่สามารถหาคำตอบให้เราได้ ผู้ที่หาคำตอบคือ ‘คน’ ฉะนั้น ‘แท็บเล็ต’ ไม่ใช่คำตอบของทางศึกษา แต่เป็นตัวช่วย โดยมีคนเป็นหัวใจที่จะหาคำตอบให้ ท่านรองผู้ว่าฯ ศานนท์ จึงบอกว่าเราต้องมีการฝึกครู สร้าง eco system (ระบบนิเวศ) มีเนื้อหาที่เหมาะสม อาจจะมีคนนอกมาช่วยสอนด้วย ไม่ใช่แค่ว่ามีแท็บเล็ตแล้วทุกอย่างจะดีขึ้น ไม่ใช่เลย เราต้องมีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมาช่วยด้วย เพื่อให้มันได้ผลจริง ๆ ซึ่งถ้าทำสำเร็จแค่ 1 ห้องเรียน มันขยายผลได้อย่างรวดเร็ว เหมือนที่เราทำ Traffy Fondue เราเริ่มเล็ก ๆ แต่ขยายผลได้ทั่วกรุงเทพฯ สร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างการพลิกหน้ามือเป็นหลังมือเลย ก็ไม่แตกต่างกันกับการที่เราทำการศึกษาที่เราสเกลจากห้องเรียนเพียงแค่ห้องเดียว ถ้าทำได้ดีก็จะสเกลได้อย่างเข้มแข็ง ในส่วนของการเริ่มต้นคงต้องทำโดยเร็วที่สุด แต่ต้องไปด้วยความพร้อม มีนักวิชาการมาช่วยกำกับ มีนักวิจัยซึ่งเคยทำมาแล้วที่โรงเรียนอื่นมาร่วมด้วย ซึ่งกทม.พร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะเชื่อว่านี่คือทางออกที่จะแก้ปัญหาในระยะยาวของเมือง ด้านการวัดผล คิดว่าจะต้องมีการเรียนเป็นปี ส่วนการเตรียมตัวคาดว่าประมาณ 6 เดือนน่าจะเริ่มได้ โดยเราอาจจะเริ่มต้น 3 ห้องเรียน (ป.2 ป.3 ป.4) แล้วค่อยขยายผลต่อไป” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวในตอนท้าย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง