อาการซึมเศร้าปัจจัยเสี่ยงฆ่าตัวตาย
จบไปแล้วกับการแถลงข่าวของคู่รักดาราดัง จากกรณีที่ฝ่ายหญิงถึงกับพยายามกินยาฆ่าตัวตาย พร้อมกับเพื่อสนิทออกมาเปิดเผยว่า เธอมีอาการซึมเศร้า ถือว่าโรคนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่ทุกคนคิด
จากผลงานวิชาการหัวข้อ “โรคซึมเศร้า…ความสูญเสียอันยิ่งใหญ่แห่งมวลมนุษยชาติ : การแก้ไขปัญหาความสูญเสียอันเนื่องมาจากโรคซึมเศร้าและผลการดำเนินงานในระบบการแก้ไขปัญหาโรคซึมเศร้าของไทย” ในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติครั้งที่ 14 ประจำปี 2558 ระบุว่า
โรคซึมเศร้าเป็นโรคเรื้อรังและพบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย ประมาณ 350 ล้านคนทั่วโลก ที่พบว่าเกิดขึ้นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ในประเทศไทย ปี 2557 ได้มีการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงถึง 12 ล้านคน พบมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคซึมเศร้า 6 ล้านคน มีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตาย 6 แสนคน ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า 5 แสนคน และมีอาการกลับเป็นซ้ำ 800 คน นอกจากนี้พบว่า มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในประเทศไทยกว่า 1 ล้าน 1 แสนคนที่ยังเข้าไม่ถึงการรักษา
ส่วนรายละเอียดของโรคดังกล่าวนั้นอาการแพนิกเกิดจากฮอร์โมนลดกะทันหัน ทำให้สารสื่อในสมองผิดปกติ คล้ายกระแสไฟฟ้าลัดวงจร ส่งผลต่อประสาทอัตโนมัติทำงานผิดพลาด ทำให้สมองหลั่งสารตื่นตระหนกออกมาเอง โดยผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนคนกำลังจะควบคุมตัวไม่ได้ วูบ เป็นลม แขนขาไม่มีแรง
ทั้งนี้ กลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ มีชีวิตเร่งรีบเกินไป อยู่หน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ พักผ่อนไม่เพียงพอ จริงจังกับชีวิต อยู่ในสภาวะกดดันเป็นประจำ มีนิสัยเป็นคนคิดมาก // เคยมีผลกระทบกับจิตใจมาก่อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกรรมพันธุ์ คือมีประวัติญาติหรือคนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้มาก่อน
อาการสำคัญของโรคนี้ คือ อารมณ์เศร้า หดหู่ ร้องไห้ง่าย ในผู้ป่วยบางรายอาจไม่บอกว่าเศร้า แต่จะบอกว่ารู้สึกเบื่อหน่ายไปหมด จิตใจไม่สดชื่นเหมือนเดิม ซึ่งอาการเหล่านี้จะเป็นเกือบทั้งวัน และเป็นติดต่อกันเกือบทุกวัน นานกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ประกอบกับ อาจมีความคิดอยากตาย ซึ่งพบได้ถึงร้อยละ 60 ซึ่งในช่วงแรกผู้ป่วยอาจแค่รู้สึกเบื่อชีวิต แต่เมื่ออาการเป็นมากขึ้นจะรู้สึกอยากตาย และต่อมาจะคิดถึงการฆ่าตัวตาย เริ่มมีการวางแผน จนถึงการกระทำการฆ่าตัวตายในที่สุด
วิธีการรักษา 1.การรับไว้รักษาในโรงพยาบาล ในรายที่อาการมาก เช่น มีความคิดฆ่าตัวตาย 2. การรักษาด้วยยา และ 3. การรักษาด้วยจิตบำบัด ซึ่งจะเป็นการปรับทัศนคติ ปรับเปลี่ยนมุมมองชีวิต
ทั้งนี้ วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือพ่อ-แม่ และคนในครอบครัว ควรสังเกตใส่ใจลูกหากมีพฤติกรรม เก็บตัว เงียบ ไม่พูดจา ซึมเศร้าผิดปกติ ควรสอบถามและให้กำลังใจเพื่อให้ลูกได้ผ่อนคลาย หากลูกยังมีความเครียดอยู่ควรพาไปพบแพทย์