นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยถึงผลการจัดงานแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย CCPOT GRAND EXPOSITION ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-20 กุมภาพันธ์ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน ที่ผ่านมานั้นว่า ถึงแม้ว่ากระทรวงจะจัดงานแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทยเป็นครั้งแรก แต่ก็ได้ผลตอบรับทางการตลาดดีเกินคาด มีผู้ให้ความสนใจเข้าชมงานทั้งรูปแบบเข้าชมในพื้นที่ onsite และผ่านระบบออนไลน์ online ตลอดทั้ง 5 วันการจัดงานรวมกว่า 70,000 ราย โดยเฉพาะการเข้าชมผ่านออนไลน์ผ่านการจัดงานแสดงเสมือนจริง Virtual Exhibition ซึ่งมีผู้เข้าเยี่ยมชมมาจาก 20 ประเทศ โดยมี 5 ประเทศที่เข้าชมสูงสุด ได้แก่ ไทย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และจีน
ด้านการเจรจาการค้า นับว่าประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจและเป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ โดยตลอด 5 วันของการจัดงานมีผู้ซื้อรายใหญ่ (Buyer) เข้าร่วมเจรจาจำนวน 70 ราย และสามารถจับคู่เจรจาธุรกิจ (Business Matching) ได้ถึง 265 คู่ มีมูลค่าคาดการณ์สั่งซื้อภายใน 1 ปีอยู่ที่ 600 ล้านบาท โดยสินค้าที่ ผู้ซื้อให้ความสนใจ 5 อันดับแรก ได้แก่ ผ้าผืนแบบต่าง ๆ, ของใช้ทั่วไป, ของที่ระลึก, สินค้าแฟชั่น (กระเป๋าและเครื่องประดับ) และอาหาร/ผลไม้แปรรูป ทั้งนี้ กลุ่มผู้ซื้อรายใหญ่ที่เข้าร่วมเจรจาการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศมาจากหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งกลุ่มห้างสรรพสินค้า บริษัทผู้แทนการค้าที่นำสินค้าไปจำหน่ายยังห้างสรรพสินค้าชั้นนำในต่างประเทศ ร้านสะดวกซื้อ ผู้ค้าตลาดออนไลน์ E-Commerce กลุ่มผู้ค้าที่นำสินค้าจากไทยไปจำหน่ายทางช่องทางต่าง ๆ ใน จีน ฮ่องกง และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เป็นต้น
สำหรับยอดขายปลีกในงานพบว่ามียอดสั่งซื้อล่วงหน้า (Pre Order) สินค้ามูลค่ากว่า 2 ล้านบาท จากกลุ่มที่ชื่นชอบงานหัตถศิลป์ระดับ Top Class ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมที่ร่วมมือกับแบรนด์ชื่อดังในหลากหลายกลุ่มธุรกิจ อาทิ เดอะ ช็อกโกแลต แฟคทอรี่ ค่ายมวยบัญชาเมฆ กระเป๋าหนังจระเข้จากแบรนด์ S’uvimol ดีไซเนอร์จากห้องเสื้อ 27 Friday และแบรนด์ Prapakas เป็นต้น ซึ่งเป็นสินค้ามูลค่าสูงที่ต้องพรีออเดอร์เท่านั้น
การจัดงานแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย CCPOT GRAND EXPOSITION ถือเป็นโครงการนำร่องของกระทรวงวัฒนธรรมที่จัดขึ้นภายใต้โครงการกระตุ้นและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย และจากการประเมินจากผู้ประกอบการภาคเอกชนได้รับคำตอบว่าการจัดงานอยู่ในระดับที่ดีมาก นอกจากการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทยและผลิตภัณฑ์ศิลปะมรดกทางวัฒนธรรมแล้ว การจัดงานครั้งนี้ยังเป็นเวทีเจรจาการค้า ขยายโอกาสทางการตลาด และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในระดับมหภาคอีกทางหนึ่งด้วย
นายอิทธิพล กล่าวเพิ่มเติมว่า การขับเคลื่อนงานต่อไปของกระทรวงวัฒนธรรม เป็นการสานต่อความร่วมมือกับกลุ่มภาคเอกชนในการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย รวมถึงการขยายเส้นทางการค้าของกลุ่มผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทยไปสู่สินค้าอื่น ๆ เพิ่มเติม ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงในการนำวัฒนธรรมมาสร้างเศรษฐกิจด้วยการพัฒนายกระดับสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม เพื่อมุ่งพัฒนาศักยภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่อุตสาหกรรมวัฒนธรรม และขยายตลาดสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมทั้งในและต่างประเทศ และพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมและทรัพย์สินทางปัญญาบนหลักการของโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG ตามนโยบายของรัฐบาล