จากสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี เมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 9 พ.ย. 64 ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลากทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่ทางการเกษตร ทำให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือนร้อนเป็นวงกว้าง 500 ลบ.ม./วินาที ภายหลังน้ำได้ลดลงจนกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว แต่มวลน้ำดังกล่าวได้ไหลลงสู่เขื่อนเพชร อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นเขื่อนที่จะต้องบริหารจัดการน้ำในการส่ง ไปตามคลองส่งน้ำในพื้นที่ทำการเกษตรต่างๆ ประมาณ 150 ลบ.ม./วินาที และระบายลงแม่น้ำเพชรบุรี 350 ลบ.ม./วินาที จึงทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีมีระดับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเพชรบุรี ในวันนี้ 10 พฤศจิกายน 2564 เวลา 12.00 น. โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี ได้รายงานข้อมูลการปล่อยน้ำลงสู่แม่น้ำเพชรบุรีอยู่ที่ 328.721 ลบ.ม./วินาที ซึ่งเป็นปริมาณที่มาก และจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำใน อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอเมืองเพชรบุรี และอำเภอบ้านแหลม เบื้องต้นทางจังหวัดเพชรบุรีได้คาดการว่า เขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ย่านเศรษฐกิจหลักของจังหวัดเพชรบุรี จะเกิดน้ำล้นตลิ่ง ทั้งนี้ได้มีประกาศแจ้งเตือนไปยังพี่น้องประชาชน ชุมชนตลาดริมน้ำ ที่พักอาศัยอยู่ตลอดทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเพชรบุรี ให้เตรียมตัวยกของขึ้นที่สูงและเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว
นายสันต์ จรเจริญ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาจังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่า เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนในช่วงการเปลี่ยนฤดู มีมวลอากาศเย็นมาปะทะกับอากาศร้อน ทำให้ฝนตกในลุ่มน้ำทั้ง 3 ลุ่มน้ำของจังหวัดเพชรบุรี คือ ลุ่มน้ำห้วยแม่ประจันต์ ลุ่มน้ำแก่งกระจาน และลุ่มน้ำห้วยผาก ในคืนวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้มีปริมาณน้ำมาที่หน้าประตูเขื่อนเพชรในปริมาณ 500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เราก็ใช้วิธีการบริหารจัดการน้ำโดยตัดลงคลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำที่มีอยู่ในระบบ อยู่ที่ประมาณ 150 ลบ.ม./วินาที ที่เหลือปล่อยลงท้ายเขื่อนเพชร คือในแม่น้ำเพชรบุรี ที่ 350 ลบ.ม./วินาทีปริมาณน้ำมากกว่าทุกๆปีที่ผ่านมาที่เคยท่วมตัวเมืองเพชรบุรี
ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบต่อตัวเมืองเพชรบุรี คาดว่าน้ำจะเอ่อล้นตลิ่งประมาณ 16.00-17.00 น.เป็นต้นไป และจะกระทบเลยตัวเมืองไปแถวๆ ต.บ้านกุ่ม ต.บ้านครกในอำเภอบ้านแหลม ก็จะมีผลกระทบเช่นกัน ในตัวเทศบาลเมืองเพชรบุรี คาดว่าน้ำจะเอ่อท่วมสูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร ตัวอ.บ้านแหลม อาจจะถึง 50 เซนติเมตร จนถึง 1 เมตร จึงขอให้ขนย้ายขึ้นที่สูงซึ่งคาดว่า จะสูงกว่าที่เคยท่วมมา เทียบกับน้ำท่วมปี พ.ศ. 2560 อีกทั้งจะสูงกว่าทุกๆปีที่ผ่านมา