ตำรวจสอบสวนกลาง โดย บก.ป. รวบสาวแสบหลอกขอรหัส OTP แฮกไลน์ยืมเงิน พบมีเหยื่อสูญเงินหลายราย
กองบังคับการปราบปราม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ท.กษิดิ์เดช เจริญลาภ พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ ชุดปฏิบัติการที่ 4 กก.2 บก.ป.
ร่วมกันจับกุม น.ส.ปัทมา หรือ แป้ง (สงวนนามสกุล) อายุ 31 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลจังหวัดสระบุรี โดยกล่าวหาว่า “ร่วมกันฉ้อโกง โดยแสดงตนเป็นคนอื่น และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง”
พร้อมตรวจยึดของกลาง โทรศัพท์มือถือ จำนวน 1 เครื่อง , สมุดบัญชี 3 เล่ม , บัตรเอเทีเอ็ม จำนวน 1 ใบ
สถานที่จับกุม บริเวณริมถนนรัชดาภิเษก แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 เวลาประมาณ 22.30
พฤติการณ์ ผู้เสียหายได้เข้ามาขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปราม ช่วยสืบสวนจับกุมกลุ่ม ผู้ต้องหาก่อเหตุแฮกไลน์ของญาติผู้เสียหาย แล้วหลอกยืมเงิน จนมีผู้ได้รับความเสียหายและเดือนร้อนเป็นจำนวนมาก
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 25 ก.ค.64 ญาติของผู้เสียหายที่ถูกแฮกไลน์ซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญ อายุ 61 ปี อยู่ในพื้นที่ จ.สระบุรี และเป็นที่รู้จักของคนจำนวนมาก ได้ถูกคนร้ายโทรศัพท์เข้ามาหาและออกอุบายขอ รหัส OTP จนญาติของตนหลงเชื่อ ได้ให้รหัส OTP ไป หลังจากนั้นไลน์ของญาติก็ไม่สามารถใช้การได้ประมาณ 1 ชั่วโมง และต่อมาพบว่า ไลน์ของญาติ ได้ส่งข้อความขอยืมเงินไปยังบุคคลต่างๆ รวมทั้งมีข้อความขอยืมเงินมายังผู้เสียหาย จำนวน 4,500 บาท ซึ่งผู้เสียหายเข้าใจว่าเป็นญาติของตน จึงหลงเชื่อโอนเงินให้ไป แต่มาทราบภายหลังว่าถูกหลอก จึงได้แจ้งความไว้ที่ สภ.หนองแค จ.สระบุรี
จากการตรวจสอบพบว่ามีผู้เสียหายจำนวนหลายราย ถูกคนร้ายโทรศัพท์ไปหลอกขอรหัส OTP แล้วแฮกไลน์ไปขอยืมเงินบุคคลต่างๆ ยอดเงินหลักพันบาทจนถึงหลักหมื่นบาท โดยจะมีชื่อบัญชีธนาคารที่แตกต่าง กันไปในรับโอนเงิน
จากการสืบสวนทราบว่าบัญชีธนาคารที่ถูกผู้เสียหายโอนเงินส่วนมากเป็นร้านค้า หรือ บุคคล ที่ไม่ทราบว่าเป็นเงินที่ได้มาจากการหลอกลวง เช่น ร้านขายโทรศัพท์มือถือ ผู้ต้องหามักจะออกอุบายว่าจะซื้อโทรศัพท์มือถือแล้วขอเลขบัญชีธนาคารของร้าน เมื่อมีเงินของผู้เสียหายโอนเข้ามายังร้าน ผู้ต้องหาจะแจ้งกับทางร้าน ว่าขอยกเลิกรายการ แล้วให้โอนเงินกลับมาอีกบัญชีที่ทางกลุ่มผู้ต้องเตรียมไว้ แต่จะมีค่าเสียเวลาให้กับทางร้านค้า ซึ่งกลุ่มผู้ต้องหาก็จะไปหลอกเจ้าของบัญชีที่จะรับเงินจากร้านค้าอีกทางหนึ่ง โดยอ้างว่าจะมีเพื่อนโอนเงินมาให้ ให้ช่วยไปกดเงินออกมาให้ผู้ต้องหา
เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.ป. จึงทำการสืบสวนและรวบรวมหลักฐานประสานไปยัง พนักงานสอบสวน สภ.หนองแค เพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ต้องหา จนพนักงานสอบสวนสามารถขออนุมัติศาลจังหวัดสระบุรี ออกหมายจับ ผู้ร่วมกระทำความผิด 1 ราย คือนายไก่ฯ ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลจังหวัดสระบุรี ที่ 199/2564 ลงวันที่ 26 ต.ค.2564 โดยกล่าวหาว่า “ร่วมกันฉ้อโกง โดยแสดงตนเป็นคนอื่น และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง” โดยสามารถจับกุมได้เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 ที่บริเวณริมถนนลาดพร้าว แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ พร้อมของกลางจำนวนหลายรายการ และได้ทำการขยายผลจนทราบตัวผู้ร่วมกระทำความผิดคือ น.ส.ปัทมา (ผู้ต้องหารายนี้)
สอบถามคำให้การผู้ต้องหาเบื้องต้น ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ ว่าเป็นผู้ก่อเหตุติดต่อไปหลอกขอรหัส OTP โดยจะหาเหยื่อจากการค้นหาตามสื่อต่างๆ ทางโซเชียล เน้นเหยื่อที่เป็นผู้สูงอายุ และทำการหลอกลวงโดยใช้กลอุบายต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งรหัส OTP แล้วจะทำการแฮกไลน์ จากนั้นจะสวมรอยเป็นเหยื่อที่ถูกแฮกแล้วส่งข้อความขอยืมเงินบุคคลต่างๆ ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ
โดยมีเหยื่อหลงเชื่อ สูญเงินหลักพันบาท จนถึง หลักหมื่นบาท ซึ่งบัญชีธนาคารต่างๆ ที่ตนมีไว้รับโอนเงิน ตนจะทำทีเป็นซื้อของหรือหลอกขอเลขบัญชีจากผู้อื่น เพื่อเป็นบัญชีสำหรับรับโอนเงิน และ หลอกให้กดเงินมาให้ตน
น.ส.ปัทมาฯ รับสารภาพว่าตนทำมาแล้วนานเกือบ 1 ปี โดยได้เงินมาเป็นจำนวนมาก ส่วนเงินที่ได้มาจะนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
ในกรณีที่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของโรงแรม โพสข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า “โดนหลอกหลวงเอาเงินในบัญชีธนาคารจากโทรศัพท์มือถือ จำนวนเกือบ 5,000 บาท” ตนรับว่าเป็นผู้ก่อเหตุดังกล่าวจริง โดยได้ขอยืมโทรศัพท์ของผู้เสียหาย แล้วหลอกให้ทางผู้เสียหายโอนเงินมาให้ ซึ่งตนได้ชดใช้ให้กับทางผู้เสียหายไปบางส่วนแล้ว และในกรณีที่มีผู้เสียหายบางรายแจ้งความดำเนินคดีกับตน ตนได้นำเงินไปคืนเพื่อให้ผู้เสียหายยอมความ
ตำรวจสอบสวนกลาง ขอเตือนภัยประชาชนเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของคนร้ายที่ใช้อุบายต่างๆ เช่น การรับพัสดุหรือรับสินค้า หรือ การทำธุรกรรมต่างฯ เพื่อพยายามขอรหัส OTP จากผู้ใช้ ซึ่งการกรอกรหัสดังกล่าวต้องทำด้วยตัวเองเท่านั้น ไม่ควรให้ผู้อื่นเป็นคนกรอก โดยเฉพาะคนที่ไม่รู้จัก เพราะการให้รหัส OTP เป็นการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ เพื่อทำธุรกรรมของผู้ใช้ได้