นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดฉบับที่ 27 เพื่อลดผลกระทบในระยะสั้นสำหรับกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการทั้งในและนอกระบบประกันสังคม โดยเป็นการทดแทนมาตรการช่วยเหลือตามมติครม. เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 ระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือ 1 เดือน รายละเอียดดังนี้
1. ขยายพื้นที่ จากเดิม 6 จังหวัด กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร เพิ่มเติม 4 จังหวัด นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงชลา โดยเป็น 10 จังหวัดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
2 เพิ่มประเภทกิจการรวม 9 สาขา จากเดิม 4 หมวดกิจการ ได้แก่ (1) ก่อสร้าง (2) ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร (3) ศิลปะ บันเทิงและนันทนาการ (4) กิจกรรมบริการด้านอื่นๆ ตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด เพิ่ม 5 หมวดกิจกรรม ได้แก่ (5) ขายส่งและการขายปลีก ซ่อมยานยนต์ (6) ขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า (7) กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน (8) กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ และ (9) ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร
3. รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ
ในระบบประกันสังคม ตามมาตรา33 -นายจ้างและผู้ประกอบการ รัฐบาลยังคงจ่ายให้นายจ้างตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาท/หัว/สถานประกอบการ สูงสุดไม่เกิน 200 คน
-ลูกจ้าง จ่ายเพิ่มเป็น 2,500 บาท/คน จากที่ลูกจ้างจะได้รับตามมาตรการช่วยเหลือเดิมเพียง 2,000 บาท/คน ซึ่งเมื่อรวมกับจ่ายชดเชยเยียวยาร้อยละ 50 ของรายได้ให้ลูกจ้าง สูงสุดไม่เกิน7,500 บาท ระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน ทำให้ผู้ประกันตน ม.33 สัญชาติไทย จะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐไม่เกิน 10,000 บาท/คน
เพิ่มสิทธิให้ผู้ประกันตน ม.39 และ ม.40 ที่ประกอบอาชีพอยู่ในปัจจุบัน จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท/คน
สำหรับผู้ที่อยู่นอกระบบม. 33 อาชีพอิสระ ขอให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม (ม.40) ภายในเดือน ก.ค. 64 เพื่อจะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท/คน
นอกระบบประกันสังคม
กลุ่มผู้ประกอบการ/นายจ้าง กรณีมีลูกจ้าง ให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม (ม.33) ภายในเดือน ก.ค. 64 เพื่อที่นายจ้างจะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาท/หัว/สถานประกอบการ สูงสุดไม่เกิน 200 คน ขณะเดียวกันลูกจ้างสัญชาติไทยจะได้รับเงินช่วยเหลือ 2,500 บาท/คน
กรณีที่ไม่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ภายในเดือนก.ค. จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท/คน ขยายมาตราการช่วยเหลือเดิมให้เฉพาะผู้ประกอบการในหมวดร้านอาหาร เครื่องดื่มในโครงการคนละครึ่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม ได้รับการช่วยเหลือ 3,000 บาท เท่านั้น
สำหรับผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” โครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะ
-ขยายให้ความช่วยเหลือจากเดิมเฉพาะหมวดร้านอาหารและเครื่องดื่ม เป็น 5 กลุ่ม ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้าน OTOP ร้านค้าทั่วไป ร้านค่าบริการและกิจการขนส่งสาธารณะ (ไม่รวมกิจการขนาดใหญ่) กรณีที่มีลูกจ้าง ขอให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคมภายในเดือน ก.ค. 64 เพื่อนายจ้างจะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาท/คน/สถานประกอบการ สูงสุดไม่เกิน 200 คนและลูกจ้างสัญชาติไทยจะได้รับเงินช่วยเหลือ 2,500 บาท/คน กรณีที่ไม่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนเป็นผู้ประกันสังคม (ม.40) ภายในเดือน ก.ค. 64 เพื่อจะได้รับเงินในอัตรา 5,000 บาทต่อคน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมถึงกรอบวงเงินสำหรับมาตรการช่วยเหลือกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการว่า จำนวน 30,000 ล้านบาท สำหรับมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินและลูกหนี้สถาบันการเงินนั้น กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย จะหารือกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อดำเนินมาตรการผ่อนปรนการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยหรือการเลื่อนงวดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของสถาบันการเงินด้วย ซึ่งหลังจากนี้ ครม. ยังมีจะพิจารณามาตรการช่วยเหลือในระยะต่อไปโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศต่อไปด้วย