กลายเป็นประเด็นในวงการผ้าเหลืองอีกครั้ง เมื่อคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ มีข้อเสนอเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปพระพุทธศาสนา โดยให้ออกกฎหมายเก็บภาษีพระที่มีรายได้เกิน 2 หมื่นบาทต่อเดือน ซึ่งมีรายงานว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแนวคิดนี้และมอบหมายให้สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติไปศึกษาความเป็นไปได้ ก่อนตอบกลับว่าทำได้หรือไม่ในวันที่ 12 มิถุนายน นี้
พร้อมเก็บภาษีวัดที่จัดกิจกรรม อาทิ สร้างวัตถุมงคลในเชิงพุทธพาณิชย์
และให้สลับหมุนเวียนเจ้าอาวาสวัดให้อยู่ในตำแหน่งคราวละไม่เกิน 5 ปี แต่ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดเป็นเรื่องการจัดเก็บภาษีพระ
ทั้งนี้ในมุมที่ไม่เห็นด้วย ระบุว่าพระสงฆ์ ไม่ได้มีอาชีพ เป็นเพียงผู้สืบทอดทางศาสนาและมีพระธรรมวินัยนำมาจัดการดูแลพระสงฆ์อยู่แล้ว ยกตัวอย่างความเห็นของพระครูสุทธิชิรศาส เจ้าอาวาสวัดเสด็จ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร เห็นว่า วัดที่มีปัจจัยมากจนสามารถนำเงินมาใช้ประโยชน์ได้นั้น มีเฉพาะในเมืองใหญ่ แตกต่างจากวัดต่างจังหวัด ที่ไม่มีแม้แต่เงินจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ จึงเห็นว่า ไม่สมควรที่จะมีนโยบายจัดเก็บภาษีกับพระที่มีรายได้ตั้งแต่ 20,000 บาท ต่อเดือน
ขณะที่ รายได้หลักของวัดส่วนใหญ่ มาจากการจัดสร้างวัตถุมงคล ซึ่งนอกจากจะนำมาช่วยค่าใช้จ่ายในวัด ก็เป็นกุศโลบาย ในการให้ญาติโยมเดินทางมาทำบุญที่วัด
แต่รายได้จากส่วนนี้ก็ไม่ได้มากเพียงพอ เพราะเมื่อหักต้นทุน ก็จะต้องนำมาจ่าย ค่าน้ำ ค่าไฟ รวมถึงการบูรณะวัดต่างๆ ซึ่งแต่ละปี จะมีกฐิน ผ้าป่าสักครั้ง
เงินที่ได้รับจากการบริจาคก็มีไม่มาก ไม่เหมือนกับวัดที่เจริญ จะมีญาติโยมเข้าไปทำบุญมาก