“ประธานสหภาพการรถไฟฯ” เข้ายื่นหนังสือจี้ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ให้ตรวจสอบการเปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อใช้งบประมาณ 33 ล้านบาท ชี้ รฟท.ข้ามขั้นตอนประกวดราคา-ทำให้เสียโอกาส แทนที่จะได้ผู้เสนอราคาหลายรายเพื่อเป็นตัวเปรียบเทียบ ขณะที่ รองผู้ว่าการรถไฟฯ ยืนยัน ประมูลโปร่งใสทำตามขั้นตอน งบ 33 ล้านบาทเหมาะสมแล้ว เหตุต้องรื้อของเก่าออกหมดก่อน
กรณีนายเติมพงษ์ เหมาะสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ ทำหนังสือแจ้งข่าวการลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็น “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ถึงกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ลงวันที่ 29 ธ.ค. 2565 ระบุว่า บริษัทฯได้ลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้าง กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในการก่อสร้างโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย มูลค่าโครงการ 33,169,726.39 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จนกลายเป็นที่วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียถึงความเหมาะสมในการใช้งบประมาณ ตามที่มีการรายงานข่าว
ต่อมาเวลา 14.30 น. วันที่ 3 ม.ค.66 ที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (หัวลำโพง) นายสราวุธ สราญวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท) ได้เดินทางมายื่นหนังสือเพื่อขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทยตรวจสอบถึงกระบวนการว่าจ้าง เพราะปกติการรถไฟจะมีกระบวนการตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 อยู่แล้ว และจะต้องมีการประกาศเชิญชวนเรื่องของการคัดเลือก หากท้ายสุดไม่มีใครมายื่นเสนอราคา จึงจะใช้วิธีการเฉพาะเจาะจง ทางสหภาพฯเห็นว่าการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงป้ายชื่อสถานีรถไฟมีความจำเป็นจริง แต่ความจำเป็นเร่งด่วน คือ การให้บริการผู้โดยสาร กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นเรื่องของการรักษาผลประโยชน์ขององค์กร หากดำเนินการตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ ดังกล่าวมองว่าจะได้คุณภาพและราคาถูกมากกว่านี้ เป็นห่วงเรื่องของการใช้งบประมาณ จึงต้องการให้การรถไฟแห่งประเทศไทยตรวจสอบ
นายสราวุธ กล่าวอีกว่า เข้าไปดูที่เว็บไซต์ของการรถไฟฯ พบว่าเอกสารมีการระบุวิธีเฉพาะเจาะจงแต่รายละเอียดปริมาณงานต่างๆ ไม่พบเอกสารที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ส่วนจะเข้าข่ายฮั้วหรือไม่นั้น มองว่า โดยหลักการตรวจสอบความโปร่งใส ถ้ารักษาผลประโยชน์ขององค์กรมันจะมีการเสนอราคาแข่งกันเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดและราคาที่เหมาะสมที่สุด
ส่วนงบประมาณจำนวน 33 ล้านบาท ที่ตรวจเอกสารพบว่าเป็นการเปลี่ยนเฉพาะป้ายชื่อฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก จำนวน 56 ตัวอักษรรวมทั้งในส่วนของตราโลโก้ของการรถไฟฯ เฉลี่ยตัวละ 5.8 แสนบาท ซึ่งราคาสูงกว่าความเป็นจริงเพราะเมื่อเข้าไปตรวจสอบดูเว็บไซต์ของบริษัทที่ได้รับให้ดำเนินการเปลี่ยนป้ายชื่อรถไฟพบว่ามีราคาตั้งแต่ 10,000 กว่าบาทสูงสุดถึง 100,000 กว่าบาทต่อตัว แต่ก็ถือว่าราคาป้ายรถไฟในครั้งนี้สูงเกือบตัวละ 500,000 บาท จึงไม่ทราบว่าวัสดุเป็นอย่างไร หรือมีสเปกอย่างไร
ด้านนายสุชีพ สุขสว่าง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รักษาการแทนผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อชี้แจงต่อประชาชนอยู่ ยืนยันว่าทุกกระบวนการทำด้วยความโปร่งใส และชัดเจน ทั้งยังเชื่อว่าสังคมจะเข้าใจมากขึ้นหลังมีการชี้แจงของการรถไฟแล้ว
นายสุชีพ เผยอีกว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังได้แสดงถึงความเป็นห่วง และให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้ภายใน 7 วัน รวมถึงต้องตอบคำถามประชาชนชี้แจงถึงที่มาที่ไปได้ทุกข้อ เพื่อแสดงถึงความโปร่งใสที่การรถไฟฯได้ดำเนินการ
สำหรับการเปลี่ยนป้ายในราคา 33 ล้าน มีความเหมาะสมแล้วกับลักษณะตัวอักษรที่มีขนาดใหญ่ รวมไปถึงการเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อรองรับป้ายใหม่ด้วย เพราะว่าจะต้องนำป้ายของเก่าออกทั้งหมดก่อนรวมถึงตัวกระจก จึงจะสามารถนำป้ายใหม่มาติดได้
#รฟท #สถานีกลางบางซื่อ #การรถไฟแห่งประเทศไทย #ข่าว #ข่าววันนี้ #mononews